เมื่อพูดถึงเรื่องไอทีหรือนวัตกรรม ก็จะต้องโยงกับซิลิคอนวัลเลย์ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นแหล่งผลิตและบ่มเพาะนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ซึ่งซิลิคอนวัลเลย์นั้นอยู่ตรงไหนในสหรัฐอเมริกา? และมีบริษัทสำคัญอะไรตั้งอยู่ในพื้นที่บ้าง??

ภาพจาก theroadtosiliconvalley

ซิลิคอนวัลเลย์เป็นชื่อเรียกของพื้นที่ทางตอนใต้ของพื้นที่อ่าวซานฟรานซิสโก (San Francisco Bay Area) หรือเบย์แอเรีย ซึ่งอยู่ทางด้านเหนือของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยเป็นการรวมกันของคำว่า “ซิลิคอน” ซึ่งเป็นแหล่งบุกเบิกพัฒนาซิลิคอนชิป (silicon chip) ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญเพื่อใช้เก็บข้อมูลหน่วยความจำ
ในระบบคอมพิวเตอร์  กับคำว่า “วัลเลย์” หรือหุบเขา ที่มาจากหุบเขาซานตา คลารา (Santa Clara Valley) ในบริเวณนั้น พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นที่ตั้งของเมือง
ซานโฮเซ (San Jose) ซึ่งถูกเรียกขานว่าเป็นเมืองหลวงของซิลิคอนวัลเลย์

บุคคลที่ได้ชื่อว่า เป็นคนแรกที่บัญญัติคำว่า “ซิลิคอนวัลเลย์” คือ นายดอน โฮเฟลอร์ (Don Hoefler) ซึ่งเป็นเพื่อนของผู้ประกอบธุรกิจในพื้นที่
หลังจากนั้น ได้มีการอ้างอิงคำว่าซิลิคอนวัลเลย์ในบทความชื่อ “Silicon Valley in the USA” ของหนังสือพิมพ์การค้าที่เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรก
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2514

ที่มา https://www.flickr.com/photos/isaacmao/6189267 , IsaacMao

โดยมีบริษัทชื่อดังที่มีสำนักงานใหญ่หรือสำนักงานอยู่ที่ซิลิคอนวัลเลย์หลายร้อยบริษัท และมีชื่อเสียงที่เป็นที่คุ้นหูของคนทั่วโลก เช่น  Adobe Systems,
Apple Inc., Cisco Systems, Facebook, Google, Hewlett Packard, Intel, SanDisk, Oracle Corporation, Yahoo เป็นต้น ผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จำนวนไม่น้อยต่างใฝ่ฝันที่จะเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทเหล่านี้เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงและความมั่นคง ทั้งทางรายได้
และสวัสดิการที่ดีบริษัทพร้อมที่จะทุ่มเต็มที่เพื่อให้ได้คนที่มีความรู้ความสามารถมาทำงานกับตน ซึ่งถ้าทำงานดีก็อาจได้สิทธิในการซื้อหุ้นรับปันผลรายปีซึ่งเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจให้พนักงานพร้อมที่จะทำงานให้กับบริษัทอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ซิลิคอนวัลเลย์ยังถือเป็นพื้นที่เป็นพหุวัฒนธรรมสูงเพราะมีคนต่างชาติทำงานอยู่
เป็นจำนวนมากในส่วนของเอเชีย มีทั้งจีน อินเดีย ไต้หวัน สำหรับคนไทยที่ทำงานในซิลิคอนวัลเลย์ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย
ในสหรัฐอเมริกา

สถาบันการศึกษาก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ผลิตบัณฑิตสนองอุปสงค์ของบริษัทในพื้นที่ โดยมหาวิทยาลัยที่สำคัญในบริเวณนั้น ได้แก่ Stanford University, University of California – Berkeley, University of California – Santa Cruz (วิทยาเขตส่วนขยาย ซิลิคอนวัลเลย์) เป็นต้น

นักวิชาการที่มีบทบาทสำคัญ คือ นายเฟรดิก เทอร์แมน (Mr. Frederick Terman) อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในช่วงทศวรรษ 1940 – 1950 ที่สนับสนุนให้นักศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษาจากคณะ เริ่มต้นตั้งบริษัทในซิลิคอนวัลเลย์ที่สำคัญ เช่น บริษัท Hewlett-Packard, Variant Associates และบริษัทชั้นนำอื่นด้านไอที และยังมีบทบาทผลักดันให้จัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมสแตนฟอร์ด (Stanford Industrial Park) เมื่อปี 2494
เพื่อรองรับทหารสหรัฐฯ จำนวนมากที่กลับมาศึกษาต่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยุติลง เพื่อจะได้มีโอกาสทำงานเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เติบโตต่อไป
ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นนิคมวิจัยสแตนฟอร์ด ภายหลัง นายเทอร์แมน ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของซิลิคอนวัลเลย์

ในส่วนของเอเชีย มีหลายประเทศที่มีพื้นที่ที่ได้รับสมญานามว่า ‘Silicon Valley of Asia’ ที่สำคัญ ได้แก่ สิงคโปร์  ญี่ปุ่น  ไต้หวัน เมือง Daejon ของเกาหลีใต้
เขตนิคมอุตสาหกรรมเซินเจิ้นในจีน เป็นต้น

ที่มา : ภาวินี จันทร์สำราญ นักการทูตชำนาญการ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ